วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การบริหารจิต


การบริหารจิตหมายถึง การออกกำลังกายทางจิต ด้วยการทำจิตใจให้ผ่องใส มีจิตที่สะอาด บริสุทธิ์ บนพื้นฐานของการรักษาศีล การทำสมาธิ และการเจริญภาวนา สิ่งเหล่านี้ถ้าหากท่านทั้งหลาย สามารถบริหารจิตตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ ท่านก็จะเป็นผู้มีพลังจิตที่แข็งแกร่ง และสามารถนำพลังจิตที่มีอยู่ในตัวของท่านมาใช้ประโยชน์ เพื่อความสุขในการดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ แต่ถ้าหากพลังจิตของเราได้สูญเสียไป ก็ย่อมมีผลต่อจิตใจของเราด้วย คือ จิตใจเริ่มอ่อนแอ ท้อถอย ไม่สู้

ดังนั้นในวันหนึ่ง ๆ เราต้องสูญเสียพลังจิตของเราไปโดยไม่รู้ตัวและบางครั้งก็รู้ตัว สำหรับในส่วนที่เราไม่รู้ตัวนั่นซิแย่ จะทำให้จิตใจของเราไม่เป็นสุข ความทุกข์ก็จะเข้ามาแทนที่ และต่อมาก็บั่นทอนร่างกายของเราให้ป่วยกายขึ้น เนื่องจากจิตใจไม่มีพลังแต่ถ้าหากเรารู้ตัวว่า วันนี้เราได้สูญเสียพลังจิตไปในด้านใดบ้างนั้นเราพอที่จะมีวิธีการเติมพลัง ให้กับจิตของตนเองได้ หรือทำภาวะจิตของเราให้มีกำลังเพิ่มขึ้นเหมือนปกติเช่นเดียวกับที่เราได้ออกกำลังกายแล้วเรารู้สึกว่าร่างกายสดชื่น ฉันใดก็ฉันนั้น จิตจของเราก็ต้องการออกกำลังกายเช่นเดียวกัน แต่เมื่อใดที่จิตได้ออกกำลังกาย จิตก็จะสดชื่นไปด้วย ไม่เหมือนกับที่เราออกกำลังกายแล้วทำให้ร่างกายสดชื่นก็จริง แต่บางครั้งจิตใจเราก็หดหู่ไม่สดชื่นเท่าที่ควร

ท่านทั้งหลายที่เคยออกกำลังกายมาสม่ำเสมอ ลองหันมาออกกำลังกายให้จิตของเราดูบ้าง ท่านจะได้รับผลอีกหลายเท่าตัว วิธีการออกกำลังกายทางจิตก็คือ การเติมพลังให้กับจิตนั่นเอง ลองปฏิบัติได้ดังนี้

เมื่อใดที่ท่านเกิดความรู้สึกว่า ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าทางสมองหรือง่วงนอน ให้ท่านกำหนดสติโดยใช้ลมหายใจเข้า-ออก จะอยู่ในลักษณะการยืน การนั่ง หรือการนอนก็แล้วแต่ สภาวะเอื้ออำนวยโดยใช้เวลาเพียง 10 – 15 นาที จิตของท่านจะรู้สึกตื่นเบิกบาน และแช่มชื่นขึ้นกว่าปกติ ความรู้สึกที่เหนื่อยอ่อนเหนื่อยล้าก็จะหายไป และท่านก็สามารถที่จะปฏิบัติงาน หรือกระทำการอื่น ๆ ต่อไปได้ หรือเรียกสั้น ๆ จากวิธีดังกล่าวนี้ว่า คือ การกำหนดสมาธินั่นเอง ซึ่งวิธีการทำสมาธินั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น นั่งสมาธิ นอนสมาธิหรือยืนสมาธิ โดยมีขั้นตอนของการทำสมาธิดังนี้ คือ
1.ก่อนเริ่มการปฏิบัติ ทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ จิตใจตั้งมั่น ปล่อยวางสิ่งที่ค้างอยู่ในจิตใจชั่วขณะหนึ่งของการที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติ

2.กำหนดท่านั่ง หรือนอน หรือยืน ในท่าที่สบาย ๆ เป็นธรรมชาติสำหรับตนเอง ไม่เกร็งกล้ามเนื้อของทุก ๆ ส่วนในร่างกาย ปล่อยร่างกายให้เป็นไปตามธรรมชาติ

3.ค่อย ๆ สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ อย่างช้า ๆ แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกอย่างช้า ๆ ทำติดต่อกันเรื่อยไป จนกระทั่งเรารู้สึกว่าจิตของเราเริ่มเบา สบาย จิตมีความสงบ

4.เมื่อท่านปฏิบัติในข้อ 3 จนกระทั่งจิตสงบ นิ่งแล้ว ท่านก็จะเกิดความรู้สึกว่าง ไม่มีอะไรเลย นั่นแหล่ะภาวะจิตของเราได้หยุดพักเพื่อเติมพลัง

5.เมื่อจิตได้เติมพลังแล้ว เมื่อเราออกจากสมาธิจะรู้สึกว่าจิตใจสดชื่น กระปรี้กระเป่า นั่นคือ จิตของเราเริ่มมีพลัง พร้อมที่จะเผชิญสิ่งต่าง ๆ ต่อไปได้

ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า วันหนึ่งมี 24 ชม. เราขอเวลาเพียง 10-15 นาที เพื่อบริหารจิตให้กับตนเองจะได้ไหม? และทุกวันนี้ เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยจิตของเราใช่หรือไม่?

ถ้าหากท่านยังปราถนาที่จะมีชีวิตที่ยืนยาวอยู่ในโลกนี้ ท่านรู้คำตอบแล้วว่า สิ่งที่ช่วยให้คนเรามีความสุขและมีอายุยืนยาวอยู่ได้ ด้วยการมา “บริหารจิตกันเถอะ” สักวันท่านจะพบกับสิ่งที่พึงพอใจ ความอยากมี อยากได้ ด้วยของท่านเอง


อ้างอิงyantip.com